เส้นทางสู่การเป็น "ล่ามศาล" ที่เร็วที่สุด (2020 UPDATE)

ศาลมีรายชื่อล่ามภาษาอังกฤษอยู่สองร้อยกว่าคน แต่ที่มารับงานได้จริง ๆ มีไม่เกินห้าสิบคน โดยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ปฏิเสธการมารับงานคือ ไม่พร้อมและไม่กล้าทำเพราะคิดว่าตนทำไม่ได้

นี่เป็นข้อมูลหนึ่งที่ผมได้จากการพูดคุยกับสำนักการต่างประเทศสำนักงานศาลยุติธรรม (เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2563) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเส้นทางสาย “ล่ามศาล” ยังเปิดอยู่สำหรับคนที่มีเป้าหมายชัดเจนในการสร้างอาชีพควบคู่ไปกับการช่วยเหลือกระบวนการยุติธรรมในสายงานนี้

ผมเอง ได้รับโอกาสให้เข้าสู่ “วงการ” นี้เมื่อราว 5 ปีก่อน

แต่จุดที่เริ่มต้นทำงาน (ไม่ประจำ) นี้อย่างถี่ ๆ เลยก็คือในปี 2562 ซึ่งทำให้เห็นภาพว่าถ้าจะจับงานตรงนี้ให้เป็นอาชีพที่สร้างรายได้จะมีวิธีเข้าสู่และอยู่ในวงการอย่างไรบ้าง

ทำความเข้าใจคำว่า “ล่ามศาล” กันก่อน

ผมขอแบ่งล่ามหรือผู้ที่ทำหน้าที่แปลภาษาในศาลออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. ล่ามที่คู่ความนำมาเอง

  2. ล่ามที่ศาลมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่

  3. ล่ามที่ขึ้นทะเบียนกับศาล

1. ล่ามที่คู่ความนำมาเอง

ล่ามประเภทนี้มาจากการจ้างวานโดยตัวความเอง สามารถมีได้ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาไม่ได้เป็นการต้องห้ามหากแต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการอนุญาตของท่านผู้พิพากษา ซึ่งในกรณีที่ท่านเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่อาจส่งผลต่อความไม่เป็นกลางหรือมีการคัดค้านโดยคู่ความฝ่ายตรงข้ามท่านก็อาจสั่งไม่อนุญาตหรือจำกัดการทำหน้าที่ให้นั่งแปลกันเป็นการส่วนตัว แต่ไม่ให้ใช้เป็นล่ามขณะพยานเบิกความให้ผู้พิพากษาและทนายความหรือพนักงานอัยการฟังก็เป็นได้

2. ล่ามที่ศาลมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่

ล่ามประเภทนี้แหละที่มักจะเรียกกันว่า “ล่ามศาล” เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่โดยการมอบหมายจากสำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม โดยได้รับค่าป่วยการและค่าเดินทางตามระเบียบสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งการจะได้รับมอบหมายจากสำนักการต่างประเทศได้นั้นก็ต้องผ่านการฝึกอบรมล่ามภาษาต่างประเทศเบื้องต้นจากสำนักการต่างประเทศเสียก่อน

3. ล่ามที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม

เป็น “ล่ามศาล” ในเวอร์ชั่นอัพเกรดจากประเภทที่ 2 เนื่องจากมีการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการ และจะได้ค่าป่วยการตามระเบียบสำนักงานศาลยุติธรรมที่เพิ่มขึ้นมาจากประเภทที่ 2 ด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ณ วันที่เขียนบทความนี้ (24 มิถุนายน 2563) ยังไม่มีล่ามประเภทนี้อยู่เลยเนื่องจากทางสำนักการต่างประเทศเพิ่งจะเปิดให้สมัครสอบเมื่อต้นปีนี้แต่ยังไม่ได้จัดสอบด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19

เส้นทางสู่การเป็นล่ามศาล (ประเภทที่ 2 และ 3) แบบ STEP-BY-STEP

  1. ติดตามโครงการฝึกอบรมล่ามภาษาต่างประเทศ (เบื้องต้น) ซึ่งเป็นการฝึกอบรมที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน ที่จัดโดยสำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม

    การฝึกอบรมนี้จะเปิดให้สมัครไม่บ่อยนักซึ่งอาจจะแค่ปีละหนึ่งครั้ง สามารถติดตามได้ในเพจของส่วนล่ามและการแปล สำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม ไลน์ @insidecoj หรือเว็บไซต์ของสำนักการต่างประเทศสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งเมื่อเข้าไปในเพจตามลิงค์จะพบว่ามีการฝึกอบรมล่ามอยู่หลายรายการ แต่การฝึกอบรมที่จะทำให้ท่านก้าวขึ้นสู่การเป็นล่ามศาลได้จะมีเพียงแค่ “โครงการฝึกอบรมล่ามภาษาต่างประเทศ (เบื้องต้น)” เท่านั้น

  2. สมัครเข้ารับการอบรมภายในเวลาที่กำหนด เตรียมเอกสารประกอบการสมัครให้เรียบร้อย

    การเปิดรับสมัครล่าสุดเป็นแบบออนไลน์ การแนบเอกสารประกอบจึงเป็นการอัพโหลดไฟล์รูปถ่าย สำเนาวุฒิการศึกษา สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน

  3. ผ่านการอบรมตามเงื่อนไขที่กำหนด ดูเงื่อนไขให้ดีว่าต้องมีการเข้าทดสอบระบบ เข้าเรียน เปิดกล้องให้เห็นภาพอย่างไร (กรณีการฝึกอบรมออนไลน์)

    เมื่อผ่านการอบรมตาม 3 ข้อนี้แล้วจะทำให้ชื่อของท่านปรากฏอยู่กับสำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งหมายความว่าท่านจะได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะล่ามศาลตามการมอบหมายจากสำนักการต่างประเทศแล้ว

  4. ปฏิบัติหน้าที่ล่ามตามที่ได้รับมอบหมาย โดยการมอบหมายจะมีการแจ้งสอบถามมาก่อนว่าท่านสะดวกในวันเวลานั้น ๆ หรือไม่ และพึงระลึกว่าการจะเข้ารับการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนล่ามท่านจำเป็นจะต้องมีประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ขั้นต่ำตามที่ทางสำนักการต่างประเทศกำหนด (การสมัครรอบล่าสุดระบุว่าต้องเคยทำหน้าที่อย่างน้อย 5 ครั้ง)

  5. ติดตามการเปิดรับสมัครล่ามเพื่อขึ้นทะเบียนของสำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรมในช่องทางตามข้อ 1. หรือในไลน์กลุ่มของผู้ผ่านการอบรมล่ามที่ท่านเป็นสมาชิกอยู่

  6. เข้าสมัครล่ามเพื่อขึ้นทะเบียน เตรียมเอกสารประกอบการสมัครให้เรียบร้อย

    นอกจากข้อมูลพื้นฐานของผู้สมัครแล้วจะมีให้ระบุถึงหลักสูตรที่ท่านได้รับการอบรม ซึ่งหมายถึง โครงการฝึกอบรมล่ามภาษาต่างประเทศ (เบื้องต้น) ที่ท่านผ่านการอบรมมา

    และประสบการณ์การปฏิบัติหน้าที่ล่ามอย่างน้อย 5 ครั้ง โดยให้ระบุเป็นเลขคดีที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งในฐานะล่ามที่ได้รับมอบหมายจากสำนักการต่างประเทศ และการเป็นล่ามที่ถูกจ้างวานโดยคู่ความ

  7. ผ่านการสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ตามลำดับ (หากไม่ผ่านข้อเขียนจะไม่สามารถสอบสัมภาษณ์ได้)

  8. ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะล่ามขึ้นทะเบียนตามที่ได้รับมอบหมาย

เท่านี้ท่านก็จะมีสิทธิได้ปฏิบัติหน้าที่เป็น “ล่ามศาล” อย่างเต็มรูปแบบแล้ว แต่แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญกว่าการมีสิทธิก็คือการได้ทำหน้าที่ด้วยจึงจะถือว่าเป็น “ล่ามศาล” ที่สร้างประโยชน์ให้กับกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มภาคภูมิและสมกับความตั้งใจของหลวงที่ได้ทุ่มเททั้งบุคคลากรและงบประมาณมอบทักษะขั้นสูงนี้ให้กับท่านโดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

ตัวอย่างประกาศจากสำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม

ตัวอย่างโพสต์โครงการฝึกอบรมล่ามภาษาต่างประเทศ (เบื้องต้น) จากเว็บไซต์ของสำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม

ตัวอย่างโพสต์โครงการฝึกอบรมล่ามภาษาต่างประเทศ (เบื้องต้น) จากเว็บไซต์ของสำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม

ตัวอย่างโพสต์สมัครสอบล่ามเพื่อขึ้นทะเบียนจากเว็บไซต์ของสำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม

ข้อมูลเพิ่มเติม

บทความนี้ไม่อาจเขียนขึ้นได้หากปราศจากข้อมูลจากคุณธนานันท์ เงินคำ เจ้าหน้าที่สำนักการต่างประเทศ สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งผมขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงที่ได้ให้ความกรุณาอนุเคราะห์ข้อมูลครับ