*คำเตือน บทความนี้มาจากประสบการณ์ชีวิตจริงของผู้เขียน
ลองเริ่มต้นด้วยคำถามว่า “ทำไมฉันถึงต้องรู้ภาษาอังกฤษด้วย”
ประเทศไทยมีทนายความกว่า 80,000 ชีวิต
แต่มีทนายความที่สื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ไม่น่าจะเกินครึ่ง แล้วถ้าสื่อสารในระดับที่ทำมาหากินได้ล่ะ คงจะยิ่งน้อยไปกันใหญ่จริงไหมครับ
การได้ภาษาจึงหมายถึงการมีค่าตัวที่สูงขึ้นและมีโอกาสในการเข้าถึงลูกความแบบที่ทนายความส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้
“เรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็กแล้วแต่ไม่เห็นเป็นซักที และไม่มีโอกาสได้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนาอย่างใครเขาชาตินี้คงไม่เก่งได้หรอก”
ถ้ามีความคิดแบบนี้อยู่ อันดับแรกอยากให้สลัดออกไปจากหัวก่อนครับ เพราะข้อเท็จจริงคือผมรู้จักคนจำนวนมากที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ยอดเยี่ยมทั้งที่ไม่เคยไปใช้ชีวิตอยู่เมืองนอก และในขณะเดียวกันคนอีกนับไม่ถ้วนที่ไปเรียนเมืองนอกมาเป็นปี ๆ กลับไม่สามารถสื่อสารได้เลยในทางปฏิบัติ
ถ้าปัจจัยไม่ใช่การไปใช้ชีวิตเมืองนอก แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้เราเก่งภาษาได้
สมัยเรียนอยู่ชั้น ป. 1 ผมอาเจียนก่อนถึงโรงเรียนทุกเช้าจนถูกครูใหญ่เรียกเข้าพบ ซักความไปมาจึงทำให้ทราบว่าเกิดจากความเครียดเพราะเกลียดวิชาภาษาอังกฤษอย่างมาก
ปัจจุบันผมสามารถตรวจสอบและร่างสัญญาภาษาอังกฤษ เป็นล่ามในชั้นศาล กระทั่งสอนภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษากฎหมายในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนหลายแห่ง เป็นผู้บรรยายในหลักสูตร Legal English ของสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และยังได้รับการติดต่อจากลูกความให้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรสัญญาภาษาอังกฤษอีกด้วย
กว่า 17 ปีที่ผ่านมา ผมได้คลุกคลีอยู่ในแวดวงการศึกษาภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย ได้เห็นการล้มลุกคลุกคลาน ได้หน้าลืมหลัง ได้หลังลืมหน้า ถอดใจปล่อยวาง การเก่งโดยพื้นเพ และการเก่งด้วยความพยายาม ของนักศึกษามามากมาย และเชื่อว่ามีความเข้าใจในระดับหนึ่งถึงปัจจัยในความล้มเหลวและสำเร็จทางด้านภาษาของคนไทย จึงอยากจะขอแชร์ 3 เคล็ดไม่ลับที่อาจจะช่วยให้ท่านที่กำลังต่อสู้อยู่ประสบความสำเร็จได้ ดังนีัครับ
1. DECISION (ตัดสินใจว่าต้องสำเร็จ)
เส้นทางนี้ไม่ไกลเกินฝัน แต่ถ้าคุณยอมแพ้ง่าย ๆ ก็ไม่มีทางสำเร็จเช่นกัน และถ้าไม่อยากเป็นคนแพ้ที่ต้องดูแลตัวเองแล้วล่ะก็ ผมขอแนะนำให้เริ่มจากการหา WHY หรืออีกนัยคือเหตุผลว่าทำไมคุณถึงต้องสำเร็จให้ได้ ลองลิสต์เหตุผลออกมาเป็นข้อ ๆ ดูว่ามันคุ้มค่าหรือเปล่ากับการที่คุณจะต้องทุ่มเทและเสียสละเวลา (กระทั่งเงินตรา) ไปเพื่อให้คุณได้อะไรบางอย่างมา การเป็นนักกฎหมายที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้มันสำคัญแค่ไหนสำหรับคุณ และมันจะส่งผลให้คุณเป็นอย่างไร เสร็จแล้วได้เวลาตัดสินใจครับ จะทำหรือไม่ทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่ต้องไปเสียเวลากับมันแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่ถ้าจะทำแล้วต้องทำให้สำเร็จเท่านั้น
2. UNLEARN (ถอนความรู้จากสมองเสียก่อน)
ทำไมเด็ก ๆ ถึงเรียนรู้ภาษาได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนภาษาแรก นั่นก็เพราะพวกเขาไม่มีอะไรในหัวให้ต้องคิดซับซ้อนไงครับ
เวลาผู้ใหญ่เรียนภาษามักจะเริ่มจากการท่องศัพท์ ผมมีลูกศิษย์หลายท่านที่อยากให้ผมส่งลิสต์คำศัพท์ให้เยอะ ๆ เขาจะได้เอาไปท่อง การท่องศัพท์ดีครับและหลีกเลี่ยงไม่ได้ในหลาย ๆ กรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัพท์เทคนิคที่ต้องรู้ให้ชัดว่าจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่งเรียกว่าอะไรเพื่อประโยชน์ในการแปล
แต่ทราบไหมครับว่าถ้ามัวแต่ท่องศัพท์จะทำให้เราเรียนภาษาได้ช้าลง
เพราะบัญชีคำศัพท์คือการเอาภาษาอังกฤษกับภาษาไทยมาจับคู่กัน แล้วพยายามท่องว่าคำนี้ภาษาไทยเรียกว่าอย่างนี้และเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่าอย่างนี้
อย่างเช่น CAT แปลว่า แมว เราจดจำจากคำ ไม่ได้จดจำจากความเป็นสิ่งสิ่งนั้น จึงทำให้สมองเกิดขั้นตอนในการบันทึกเพิ่มขึ้น
เราจดจำจากคำ ไม่ได้จดจำจากความเป็นสิ่งสิ่งนั้น จึงทำให้ขั้นตอนในการบันทึกเพิ่มขึ้น
ในขณะที่เด็กเรียนรู้จากการเห็นว่าเจ้าตัวนี้เรียกว่า CAT ไม่มีภาษาอื่นให้ต้องเปรียบเทียบ รู้แค่ว่านี่คือ CAT พอ ไม่ต้องมีอะไรซับซ้อนไปกว่านั้น
ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ให้โยนคำแปลออกไปครับ ไม่ต้องพยายามคิดเปรียบเทียบอะไรทั้งสิ้น ตัดขั้นตอนการบันทึกออกไปซะ!
3. MUSCLE MEMORY (ฝังความทรงจำลงในกล้ามเนื้อ)
ถ้ามีโอกาสได้คุยกับนักดนตรีหรือนักกีฬาอาชีพแล้วถามพวกเขาว่าทำไมคุณถึงเก่ง คำตอบที่จะได้รับคืออะไรรู้มั้ยครับ การฝึกซ้อมไงล่ะ ซ้อม ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม ซ้อมจนกล้ามเนื้อมันจำได้
ว่ากันว่าคนเราเมื่อได้ข้อมูลใหม่มา ถ้าไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย จะลืมไปภายใน 48 ชั่วโมง
ดังนั้นเมื่อได้เรียนรู้คำใหม่มาจึงต้องหาทางใช้ซ้ำให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่มีให้ใครพูดด้วยพูดกับตัวเองก็ยังดีครับ
เป็นต้นว่าได้รู้จักคำว่า trial มา (ไทรอัล: การพิจารณาคดี)
“ฉันมี trial วันจันทร์”
“ฉันต้องไป trial ให้ทัน”
“ฉันจะไม่ไป trial สาย”
“trial วันนี้ฉันทำได้ดีมากเลย”
“ฉันชอบวันที่มี “trial” จริง ๆ
อาจจะฟังดูแปลก ๆ นิดนึงนะครับ แต่เชื่อไหมว่าความจำระยะยาวของคนเราเกิดจากการใส่ความรู้สึกเข้าไปในข้อมูล ดังนั้นยิ่งมีอารมณ์ร่วมยิ่งจำได้แม่น
ข้อควรระวัง
การฝังความจำลงสู่กล้ามเนื้อ (muscle memory) มีคมอีกด้านนึงคือ หากเราจำในสิ่งผิด ๆ สิ่งนั้นก็จะติดอยู่กับเราไปนานแสนนานเลยทีเดียว ดังนั้นอย่าลืมศึกษาด้วยนะครับว่าสิ่งที่เรียนรู้มานั้นถูกต้องหรือไม่
เป็นอย่างไรบ้างครับกับ 3 เคล็ดที่จะลับคมภาษาให้นักกฎหมายไทย เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ คิดเห็นประการใดแชร์สู่กันฟังได้จักเป็นพระคุณยิ่ง และสุดท้ายนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับใช้ท่านในสักโอกาสหนึ่งต่อไปครับ