Choice of Language : การเลือกใช้ภาษาในสัญญา

สัญญาที่ทำขึ้น 2 ภาษา ควรกำหนดให้เป็นอย่างไร ระหว่าง

(1) ให้ใช้ได้ทั้งสองภาษาตราบเท่าที่ไม่ขัดกัน และถ้าขัดกันให้ถือเนื้อความตามฉบับภาษา...เป็นหลัก เป็นต้นว่า

"This agreement has been prepared in both English and Thai versions. In the event of any inconsistency, the English version shall apply and be binding upon the parties."

ข้อตกลงนี้ทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย ในกรณีที่เนื้อความของทั้งสองฉบับไม่สอดคล้องกันให้ฉบับภาษาอังกฤษมีผลผูกพันระหว่างคู่ตกลง

หรือ

(2) ให้ใช้ภาษาเดียวเป็นฉบับทางการ ส่วนการแปลเป็นอีกภาษาหนึ่งให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งการอ้างอิงเท่านั้น เป็นต้นว่า

"Only the original English language is considered official. All translations into Thai are unofficial and for reference only."

ให้ถือว่าฉบับภาษาอังกฤษเท่านั้นที่เป็นฉบับทางการ คำแปลเป็นภาษาไทยไม่ให้ใช้เป็นทางการและให้ใช้เพื่อการอ้างอิงเท่านั้น

บทความหนึ่งจาก American Bar Association (สภาเนติบัณฑิตแห่งสหรัฐอเมริกา) ("ABA") เห็นว่า การใช้ถ้อยคำตาม (1) ซึ่งให้ใช้ได้ทั้ง 2 ภาษา โดยจะใช้ภาษาหนึ่งเป็นภาษาหลักเฉพาะกรณีที่ขัดแย้งกันนั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาได้

การเลือกใช้คำให้ถูกต้องเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งที่ส่งผลต่อการตีความสัญญา การแปลสัญญาจะออกมาดีที่สุดหากผู้แปลสามารถให้ความเห็นทางกฎหมายแบบข้อต่อข้อเพื่อให้เกิดความสอดคล้องอย่างสูงสุดได้ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่คู่สัญญาทำได้เสมอไปจึงต้องพึ่งพาผู้แปลเท่าที่หาได้ ซึ่งอาจไม่เชี่ยวชาญทางกฎหมายเพียงพอ หรือไม่เชี่ยวชาญทางภาษาเพียงพอ

ดังนั้น ABA จึงเห็นควรให้ยึดฉบับทางการเพียงฉบับเดียวตามข้อ (2) โดยให้คำแปลมีขึ้นเพื่ออ้างอิง (กล่าวอีกนัยคืออำนวยความสะดวก) ให้แก่คู่สัญญาฝ่ายที่ไม่ใช่เจ้าของภาษาเท่านั้นเอง

เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร อะไรคือมุมมองที่ท่านมีต่อการเลือกใช้ภาษาในสัญญา หากจะกรุณาพิมพ์เข้ามาในคอมเมนต์เพื่อแบ่งปันความรู้จะขอบคุณยิ่ง

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเติบโตครับ